การคลังของไทย ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จนถึงสมัยการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ของ ประวัติกระทรวงการคลังไทย

ตั้งกรมพระคลังมหาสมบัติ

เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติในปี พ.ศ. 2453 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวบรัดพระคลังในท้องที่ต่างๆทั่วพระราชอาณาจักร เข้ามาอยู่ในบังคับบัญชาของกระทรวงมหาสมบัติ กรมพระจันทบุรีนฤนาถก็ได้ดำเนินการตามแนวทางนี้จนสำเร็จ

ในพระราชบัญญัติพระธรรมนูญหน้าที่ราชการในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ พ.ศ. 2433 กรมเก็บในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ทำหน้าที่เป็นพระคลังแผ่นดินสำหรับจ่ายและรักษาพระราชทรัพย์ทั้งปวงในกรุงเทพมหานคร และเป็นต้นเรื่องรับส่งเงินแผ่นดินถึงพระคลังในหัวเมืองทั่วพระราชอาณาจักร แต่ชื่อเรียกกรมเก็บนี้ ไม่เหมาะสมกับขอบเขตหน้าที่การงาน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนนามกรมเก็บเป็นกรมพระคลังมหาสมบัติ ตามประกาศ ณ วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2454

สำหรับการรวบรัดคลังหัวเมืองมาอยู่ในบังคับบัญชาของกระทรวงพระคลังมหาสมบัติก็สำเร็จสมบูรณ์ด้วยการโอนคลังในจังหวัดต่าง ๆ แห่งมณฑลกรุงเทพฯ ซึ่งเดิมอยู่ในกระทรวงนครบาลมาขึ้นกับกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2458 เป็นต้นไป

ในปี พ.ศ. 2456 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2456 เพื่อวางระเบียบกำหนดเวลาที่กระทรวงต่าง ๆ จะต้องยื่นงบประมาณต่อกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ เวลาที่จะต้องทูลเกล้าฯ ถวาย กับเวลาที่จะพระราชทานพระบรมราชานุญาตและกำหนดวิธีการจ่ายเงินนอกงบประมาณในระหว่างปี การใช้จ่ายเงินงบประมาณของแต่ละปี กำหนดให้สิ้นสุดในวันที่ 31 มีนาคม ของปีงบประมาณนั้น

การรวมกรมสรรพากรในและกรมสรรพากรนอกเป็นกรมสรรพากร

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้มีกรมราชการขึ้น 2 กรมคือ กรมสรรพากรในและกรมสรรพากรนอก ขึ้นอยู่ในกระทรวงนครบาล และกระทรวงมหาดไทยตามลำดับ

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่าหน้าที่ของกรมสรรพากรในและกรมสรรพากรนอกนี้ ไม่สมควรที่จะอยู่ในกระทรวงฝ่ายปกครอง น่าจะได้มาอยู่ในเสนาบดีที่มีหน้าที่ทางการเงิน เพื่อจะได้จัดการตรวจตราและจัดการให้เป็นประโยชน์งอกงามขึ้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกกรมสรรพากรในและกรมสรรพากรนอกมาขึ้นอยู่ในบังคับบัญชาพระคลังมหาสมบัติ และรวมกรมสรรพากรในและกรมสรรพากรนอกเป็นกรมเดียวกัน เรียกว่า กรมสรรพากร

ตั้งกรมตรวจเงินแผ่นดิน

เนื่องจากเงินรายได้และรายจ่ายของประเทศไทยมีจำนวนมากขึ้นโดยลำดับ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า ควรจะมีการตรวจตราการรับจ่ายและการรักษาเงินให้รัดกุมยิ่งขึ้น โดยมีเจ้าหน้าที่เฉพาะสำหรับปฏิบัติการนี้แผนกหนึ่ง จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้ง กรมตรวจเงินแผ่นดิน ขึ้นในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติตามประกาศตั้งกรมตรวจเงินแผ่นดิน ณ วันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2458 ให้ทำหน้าที่ตรวจตราเจ้าหน้าที่ต่าง ๆ ซึ่งทำการรับหรือจ่ายเงินแผ่นดินและเงินอื่น ๆ ที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบ และอาศัยอำนาจแห่งพระราชบัญญัตินี้ เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติได้ออกประกาศระบุหน้าที่การงานต่าง ๆ ซึ่งกรมตรวจเงินแผ่นดินจะต้องตรวจตรา และวิธีการที่จะต้องปฏิบัติ

กรมบาญชีกลาง

เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรมตรวจเงินแผ่นดินนั้น เพื่อมิให้กรมใหม่ที่ตั้งขึ้นนี้ มีหน้าที่ปะปนกับกรมตรวจและกรมสารบาญชี ซึ่งมีอยู่แล้วแต่เดิมในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ และทรงพระราชดำริเห็นว่านามกรมและหน้าที่ราชการของกรมตรวจเงินในแผ่นดินจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าปะปนกับกรมตรวจและกรมสารบาญชี จึงเปลี่ยนนามกรมตรวจและกรมสารบาญชีเป็นกรมบาญชีกลาง ตามประกาศวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2458 มีหน้าที่จัดระเบียบการประมวลบัญชีเงินรายได้และรายจ่ายของแผ่นดิน และสอบสวนการเบิกจ่ายเพื่อรักษารูปงบประมาณกับเพื่อให้การเบิกจ่ายได้ปฏิบัติไปตามความมุ่งหมายของการงบประมาณ ทั้งกำหนดหน้าที่ของกรมบาญชีกลางไว้

ตั้งกรมสถิติพยากรณ์

การวางนโยบายการปฏิบัติราชการของหน่วยงานต่าง ๆ ย่อมต้องอาศัยความรู้ในความเป็นไปของบ้านเมืองและราษฎร เป็นพื้นฐานแห่งนโยบายนั้น สถิติของบ้านเมือง กระทรวงบางแห่งได้เคยเก็บรักษาไว้ แต่เพื่อจะให้ได้รับประโยชน์ยิ่งขึ้นจากสถิติเหล่านี้ก็สมควรมีเจ้าหน้าที่กองกลาง เป็นผู้รวบรวมข้อความและตัวเลขต่าง ๆ แสดงสถิติของบ้านเมืองขึ้นเป็นพยากรณ์สำหรับประโยชน์ทั่วไป พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จังตั้งกรมสถิติพยากรณ์ขึ้นในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2458 ภายหลังได้รับการยกฐานะเป็นกระทรวงพาณิชย์ในปี พ.ศ. 2463

กรมศุลกากร

เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 (พ.ศ. 2457–2461) ประเทศไทยได้ประกาศสงครามเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งเป็นฝ่ายชนะสงครามภายหลังสงครามประเทศไทยถือโอกาสเจรจายกเลิกสัญญาที่ไม่เป็นธรรมกับนานาประเทศ ซึ่งได้ทำไว้ตั้งแต่ครั้งสนธิสัญญาบาวริง โดยเฉพาะในเรื่องพิกัดศุลกากรซึ่งเดิมเราจะเก็บภาษีศุลกากรเกินกว่าร้อยชักสามไม่ได้ ในการนี้รัฐบาลได้ แต่งตั้งให้ ดร.ฟรานซิส บี.แซร์ ที่ปรึกษากระทรวงต่างประเทศ ไปเจรจาแก้ไขสนธิสัญญากับประเทศต่าง ๆ จนประสบความสำเร็จในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยตามสนธิสัญญาฉบับใหม่ ไทยมีอิสระสมบูรณ์ที่จะตั้งพิกัดอัตราศุลกากรได้เต็มที่

ในการเจรจาแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีศุลกากร ปรากฏว่าในสมัยที่พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพร้อมพงษ์อธิราช ทรงดำรงตำแหน่งอธิบดี และ มร.วิลเลียมนันท์ เป็นที่ปรึกษาศุลกากร ทางการได้จัดร่างกฎหมายวางระเบียบวิธีการศุลกากรขึ้นฉบับหนึ่ง โดยอาศัยตามหลักกฎหมายอังกฤษเป็นแบบฉบับ แล้วส่งไปให้นานาประเทศที่มีสัญญาทางพระราชไมตรีกับประเทศไทย พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน หลังจากนั้นจึงประกาศใช้เป็นกฎหมายนั่นคือ พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา กิจการศุลกากรได้ดำเนินไปอย่างกว้างขวางมีอิสระสมบูรณ์ทุกประการ

ส่วนในด้านพิกัดอัตราศุลกากรก็เช่นเดียวกัน ประเทศไทยได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติพิกัดอัตราศุลกากรฉบับปฐมฤกษ์ เมื่อปี พ.ศ. 2469 ปีเดียวกันนี้ด้วย

ใน พ.ศ. 2471 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติเงินตรา พุทธศักราช 2471 ในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติกำหนดให้มีกรมราชการกรมหนึ่งเป็นกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ เรียกว่า กรมเงินตรา มีหน้าที่กระทำกิจทั้งปวงอันเกี่ยวแก่การจำหน่ายและถอนคืนธนบัตร ต่อมาทรงพระราชดำริว่า กิจทั้งปวงซึ่งกรมเงินตราจะพึงปฏิบัติดังกล่าวมานี้ กรมธนบัตรซึ่งตั้งขึ้นตามบทบัญญัติในพระราชบัญญัติธนบัตรสยาม รัตนโกสินทร์ศก 121 ได้ปฏิบัติอยู่แล้วจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนนามกรมธนบัตรว่า "กรมเงินตรา" และให้อธิบดีกรมบาญชีกลางเป็นผู้บังคับบัญชากรมเงินตรา ตามประกาศเปลี่ยนนามกรมธนบัตรเป็นกรมเงินตรา ณ วันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2471

ในปี พ.ศ. 2473 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ยุบกรมกระษาปณ์สิทธิการลงมามีฐานะเป็นโรงงานขึ้นกับกรมฝิ่นหลวงหรือกรมสรรพสามิตในปัจจุบัน ทั้งนี้เนื่องมาจากเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรง ด้วยเหตุนี้โรงกษาปณ์ไทยจึงหยุดการผลิตเหรียญกษาปณ์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

การสรรพากรในสมัยที่พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพากร (พ.ศ. 2473–2478) ได้มีการรวมกรมสุราเข้ามาอยู่ในกรมสรรพากร เนื่องจากพิจารณาเห็นว่ากรมทั้งสองมีหน้าที่และกิจการพิจารณาเห็นว่ากรมเกี่ยวพันกันอยู่ แต่การรวมนี้เป็นไปได้เพียงปีเดียว ก็มีประกาศพระบรมราชโองการแยกกรมสุราออกจากกรมสรรพากรไปตั้งเป็นอีกกรมหนึ่งต่างหาก และโดยที่ทรงพิจารณาเห็นว่า ต่อไปภายหน้าจะมีกิจการอื่นเพิ่มขึ้นอีก สมควรเปลี่ยนนามกรมนี้ให้เหมาะแก่หน้าที่ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนนามกรมสุรา เป็นกรมสรรพสามิตต์

ใกล้เคียง

ประวัติศาสตร์ ประวัติศาสนาพุทธ ประวัติศาสตร์ไทย ประวัติศาสตร์โลก ประวัติศาสตร์จีน ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ประวัติศาสตร์อินเดีย ประวัติศาสตร์สหรัฐ ประวัติการบินไทย ประวัติศาสตร์เทคโนโลยี